เกี่ยวกับระบบ
GISTDA sphere เป็นแพลตฟอร์มด้านแผนที่ครบวงจรที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีแพลตฟอร์มด้านแผนที่ของคนไทย พัฒนาโดยคนไทย ที่เพียบพร้อมไปด้วยข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่จำเป็นของประเทศไทย พร้อมเครื่องมือในการจัดการต่างๆ ครบครัน
โลกได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจากการทำงานกับข้อมูลและการใช้พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติ และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ปัจจุบันสามารถทําได้ง่ายขึ้น จากการพัฒนาซอฟต์แวร์และเครื่องมือรหัสเปิด เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้ใช้บริการข้อมูลในการเข้าถึงข้อมูลและการใช้ข้อมูล สทอภ. ได้ดำเนินการจัดหาและจัดทำผลิตภาพถ่ายจากดาวเทียมพร้อมใช้ เพื่อเป็นชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานของประเทศ (Fundamental Geographic Data Set : FGDS) และให้บริการผ่านเว็บท่า (Web Portal) เพื่อให้บริการชั้นข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมสำหรับการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ตามพันธกิจของ สทอภ. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานภูมิสารสนเทศของประเทศไทย ในการสร้างคุณค่าของสารสนเทศจากข้อมูลสำรวจโลก ให้สามารถตอบสนองและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลอย่างตรงประเด็นและทันสถานการณ์ ซึ่งการประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียมเป็นรายภาพ (Scene Basis) ยังไม่สามารถตอบโจทย์การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และหลายช่วงเวลา (Time Series) รวมทั้ง ปัจจุบันการข้อมูลสำรวจโลกได้มีการให้บริการและแชร์ข้อมูลอย่างเปิดกว้างขึ้น หน่วยงานเจ้าของดาวเทียมหลายหน่วยงานให้บริการแบบ Open and Free จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะยกระดับการประยุกต์ภูมิสารสนเทศเพื่อการกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่ และสนับสนุนการตัดสินใจอย่างทันเหตุการณ์ รวมทั้ง โอกาสในการร่วมมือภายใต้ ARD Community เพื่อการเข้าถึงข้อมูลสำรวจโลกได้อย่างหลากหลาย ต่อเนื่องและทันสถานการณ์
ประกอบกับแนวคิดของ Open Platform Spatial Big Data for all Thailand มีความยืดหยุ่น ลดความซ้ำซ้อนและภาระในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเทคนิค รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนโจทย์และตัวแปรได้ตามต้องการผ่านการเชื่อมโยง (Interface) ฐานข้อมูล ARD/Data Cube ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากความสามารถของคอมพิวเตอร์ผ่านวิธีการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีศักยภาพในการทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ และผสมผสานการทำงานร่วมกันภายใต้การแทรกแซง (Bias) ที่น้อยที่สุด ทำให้ได้ผลลัพธ์อย่างถูกต้อง เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่และสนับสนุนการตัดสินใจอย่างทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ
mail
facebook
ig